18 กุมภาพันธ์ 2558

มารู้จัก ขันที กันเถอะ


จากที่เห็นการแชร์ในFacebook เรื่องของขันที วันนี้ก็เลยรวบรวมข้อมูลของขันทีมาฝากกันค่ะ

ขันที ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายถึง ชายที่ถูกตอน บางประเทศทางเอเชียสมัยโบราณใช้สำหรับควบคุมฝ่ายใน ในภาษาจีนเรียกว่า ไท้เจี๋ยน หรือไท้ก๋ำ (ฮกเกี้ยน:太監 ,ไท้ก่ำ ) ในภาษาละตินและอาหรับเรียกว่ายูนุก (Eunuch) โดยมีรากศัพท์มาจากภาษากรีกคำว่า ยูโนคอส (eunouchos) แปลว่าผู้ดูแลรักษาเตียง ส่วนชนชาติมอญเรียกขันทีว่า กมนุย (อ่านว่า ก็อมนอย) แปลว่า ขันทีที่ปราศจากความรู้สึกทางเพศ


ต้นกำเนิด


ในวัฒนธรรมตะวันตก เรียกขันทีว่า ยูนุก (Eunuch) ซึ่งมาจากรากศัพท์ภาษากรีกคำว่า ยูโนคอส (eunouchos) แปลว่าผู้ดูแลรักษาเตียง ซึ่งยูนุกมีหน้าที่ดูแลหรือเป็นผู้รับใช้กษัตริย์และข้าราชสำนักฝ่ายใน สันนิษฐานว่าเกิดครั้งแรกที่เมืองละกาสช์ (Lagash) ของสุเมเรียน ในเมโสโปเตเมีย ราว 2,000 ปีก่อนคริสตกาล และถือเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในราชสำนักของเมโสโปเตเมียและอียิปต์แต่โบราณ ในระยะแรกจะคัดเลือกยุนุกจากทาสและเชลยอายุน้อย แต่มีบางส่วนที่ถูกตอนเมื่อเป็นหนุ่มแล้ว

วัฒนธรรมการใช้ยุนุกในเมโสโปเตเมียแตกแขนงออกเป็น 2 ทางคือ สายแรกแพร่หลายไปตามเส้นทางสู่จีนในสมัยราชวงศ์สุย และสายที่ 2 แพร่หลายในเอเชียตะวันตกและเอเชียใต้ สู่เปอร์เซียโบราณและจักรวรรดิโรมันตะวันออกหรือไบแซนไทน์

ในเปอร์เซียและไบแซนไทน์ในช่วงที่มุสลิมเรืองอำนาจ พวกเขาได้รับเอายูนุกเข้ามาด้วย ดังปรากฏในราชสำนักจักรวรรดิมุสลิมในคริสต์ศวรรษที่ 16-18 อย่างออตโตมาน-เติร์ก (Ottoman-Turk)ซาฟาวี (Safavids) ของอิหร่านและโมกุล (Mughal) ของอินเดีย โดยจักรวรรดิทั้ง 3 ได้รับการยกย่องว่าเป็นราชสำนักที่เจริญรุ่งเรืองเช่นเดียวกับราชสำนักจีน


ประเภทของขันที


ขันทีนั้น มีอยู่ 2 ประเภท 

ถูกตอนโดยตัดแค่ปลายองคชาตเท่านั้น ยังเหลือพวงอัณฑะอยู่ ขันทีประเภทนี้ ยังเหลือฮอร์โมนเพศชายอยู่มากมาย เสียงยังห้าวแบบชาย และจะได้อนุญาตให้ปฏิบัติภารกิจหน้าที่การงานได้เฉพาะเขตพระราชฐานชั้นนอกเท่านั้น
ถูกตอนโดยตัดทิ้งทั้งพวง เสียงจะแหลมเล็ก ลูกกระเดือกหายไป ฮอร์โมนเพศชายหมดไป พวกนี้จะได้รับความไว้ใจสูงกว่า และสามารถปฏิบัติงานในเขตพระราชฐานชั้นใน



ขันทีจำแนกตามประเทศ


จีน
ขันทีจีนยุคสุดท้ายแห่งราชสำนักชิง
ขันทีในจีนจะเรียกว่า ฮ่วนกวน (จีน宦官พินอินhuànguānไท่เจี้ยน (จีน太监พินอินTàijiàn) ทำงานหลายอย่างที่สตรีเพศทำไม่ได้ ในพระราชวังในจีนมีหน้าที่ควบคุมนางในฝ่ายพระราชฐาน และบางครั้งจะขับลำนำถวายฮ่องเต้ก่อนเข้าที่บรรทม นอกจากเรื่องทางโลกแล้ว ขันทียังมีหน้าที่เป็นคณะที่ปรึกษาให้กับฮ่องเต้ในการปกครองบ้านเมือง ซึ่งในบางยุคสมัยก็เป็นเพราะขันทีที่เอาแต่ปรนเปรอฮ่องเต้จนบ้านเมืองอ่อนแอ ไร้เสถียรภาพจนนำมาสู่การล่มสลายของบ้านเมือง เช่น ยุคสามก๊ก หรือ ปลายราชวงศ์หมิง หรือ ปลายราชวงศ์ชิง เป็นต้น
เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ยิน (1,324 –1,066 ปี ก่อนคริสต์ศักราช เป็นชื่อเรียกของราชวงศ์ซาง หลังย้ายเมืองหลวงไปเมืองยิน ซึ่งปัจจุบันคือเมืองอันหยัง ในมณฑลเหอหนาน) จากหลักฐานบนกระดองเต่ามีตัวหนังสือจีนโบราณอยู่ตัวหนึ่ง ซึ่งหมายถึง 'การตัดองคชาต' และ คำว่า ‘羌 ’(อ่านว่าเชียง) บนกระดองเต่ากล่าวไว้ว่า อู่ติงหวัง จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ยิน (1,254 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ได้มีรับสั่งให้ตัดอวัยวะเพศของหนุ่มชาวเชียง ที่ถูกจับมาเป็นเชลย และให้นำตัวไปเป็นขันที ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมต่างๆ
ต่อมาในรัชสมัยของมู่หวัง (976-920 ปี ก่อนคริสต์ศักราช) แห่งราชวงศ์โจว จนถึงรัชสมัยของจักรพรรดิอิงจง (ค.ศ. 1457-1464) แห่งราชวงศ์หมิง ปรากฏหลักฐานว่า มีการลงโทษ ด้วยการตัดอวัยวะเพศ หรือที่เรียกกันว่าการลงโทษของราชสำนัก ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อแห่งความทารุณนี้ ได้แก่ เชลยศึก ข้าราชการที่จักรพรรดิไม่ทรงพอพระทัย หรือแม้แต่ลูกชายของชาวบ้านทั่วไป ที่ถูกนำมาเป็นทาสของบรรดาผู้ปกครอง
ต่อมาในสมัยกวงบู๊ ค่านิยมเปลี่ยนไป ผู้ชายที่รับใช้ในวังต้องเป็นขันที ถือว่าเป็นคนที่มีหน้ามีตามาก พอถึงยุคสมัยราชวงศ์สุย ทางการยกเลิกโทษการตอน ดังนั้นคนที่เป็นขันทีต้องตอนตัวเอง
ในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง (ค.ศ. 1644-1911) สองราชวงศ์สุดท้ายของจีน กลับมีชายหนุ่มจำนวนไม่น้อย สมัครใจเข้าเป็นขันที ส่วนมากมีสาเหตุมาจากความยากจน โดยขันทีคนสุดท้ายของจีนคือซุนเหย้าถิง เขาเกิดในรัชสมัยของจักรพรรดิกวางสู่ (ค.ศ. 1875-1908) แห่งราชวงศ์ชิง

ไทย
นักเทษขันทีช่วงยุคกรุงศรีอยุธยา โพกศีรษะแต่งกายอย่างแขก
ในประเทศไม่พบหลักฐานที่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่มีร่องรอยที่ทำให้เห็นว่ามีขันทีมาก่อนโดยในสมัยอยุธยาเรียกขันทีว่า นักเทษขันที (บ้างเขียน นักเทศขันที) นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ให้ความเห็นว่า นักเทษ และ ขันที คงเป็นขุนนางชายที่ถูกตอนเหมือนกัน มีเพียง ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร อธิบายไว้ว่า คือฝ่ายหนึ่งที่เรียกว่า นักเทษ (นักเทศ) นั้นรับราชการฝ่ายขวา ส่วนอีกฝ่ายที่เรียกว่า ขันที นั้นรับราชการฝ่ายซ้าย มีข้อสันนิษฐานว่าพระมหากษัตริย์ไทยสมัยโบราณให้ขันทีอยู่ในสังกัดของฝ่ายใน และไม่ทรงเปิดโอกาสให้นักเทษขันทีมีส่วนร่วมในราชการฝ่ายหน้า อย่างไรก็ตามนักเทษขันทียังคงดำรงอยู่จนสิ้นกรุงศรีอยุธยา และถูกยกเลิกลงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแห่งราชวงศ์จักรี
ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร ได้สันนิษฐานเกี่ยวกับที่มาของคำว่า "ขันที" ว่าน่าจะมาจากคำว่า "ขณฺฑ" ในภาษาสันสกฤต ซึ่งมีความหมายว่า "ทำลาย" และกินความหมายไปถึง “ไม่สมบูรณ์, ขาดหายไป, ทำลายหรือตัดออกเป็นชิ้น” และคนไทยได้แผลงคำว่า ขณฺฑ เป็น ขณฺฑี ในการเขียน

พม่า

ในพม่าและยะไข่ ขันทีจะมีหน้าที่ในการดูและฝ่ายในและจำทูลพระราชสาสน์ นอกจากนี้ชาวมอญก็มีคำเรียกขันทีว่า กมฺนุย (อ่านว่า ก็อมนอย) แปลโดยศัพท์ว่า "ขันทีที่ปราศจากความรู้สึกทางเพศ"

เกาหลี

ในอาณาจักรแถบคาบสมุทรเกาหลีได้มีระบบขันทีเช่นเดียวกัน โดยเรียกว่า แนซี (เกาหลี내시; 內侍) ซึ่งทำหน้าที่สนองพระราชบัญชาพระมหากษัตริย์และเหล่าเชื้อพระวงศ์ ซึ่งปรากฏการมีอยู่ของขันทีครั้งแรกใน "โครยอซา" (เกาหลี고려사; 高麗史 "ประวัติศาสตร์โครยอ") ซึ่งบันทึกเรื่องราวช่วงยุคโครยอ และต่อมาในยุคราชวงศ์โชซอน ระบบแนซีได้ถูกแก้ไข และเปลี่ยนแปลงเรียกว่า กรมแนซี (เกาหลี내시부; 內侍府)
ระบบแนซี จะมีสองระดับคือ ซังซ็อน (เกาหลี상선; 尙膳 "หัวหน้าขันที") รงลงมาคือ แน-กวัน (เกาหลี내관; 內官 "ขันทีพนักงานสามัญ") ทั้งสองตำแหน่งถือว่าสูงกว่าขันที่ทั่วไป ทั้งนี้จะมีเจ้าหน้าที่จำนวน 140 นายประจำอยู่ตามพระราชวัง และขันทีทุกคนจะต้องสอบปรัชญาขงจื๊อในทุก ๆ เดือน ภายหลังระบบขันทีได้ถูกยกเลิกลงในปี พ.ศ. 2437 หลังเกิดการปฏิรูปกาโบ (เกาหลี갑오 개혁; 甲午改革)
ตามตำนานกล่าวไว้เกี่ยวกับการตอนความว่า เบื้องต้นต้องทาอุจจาระของมนุษย์ลงบริเวณอวัยวะเพศของเด็กน้อยแล้วให้สุนัขกัดอวัยวะเพศจนขาด ต่อมาในยุคราชวงศ์หยวน ขันทีได้กลายเป็นสินค้าชั้นดี และการตอนด้วยสุนัขก็ถูกแทนที่ด้วยเทคนิคการผ่าตัดที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

เวียดนาม

ในยุคราชวงศ์จาง (เวียดนามNhà Trần陳朝) ได้ทำการส่งขันทีเด็กชาวเวียดนามเป็นเครื่องบรรณาการแก่จีนในยุคราชวงศ์หมิง ในปี พ.ศ. 19261927 และ 1928 และปรากฏหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของขันทีในอดีต นั่นคือบทกวีวิพากษ์วิจารณ์เหล่าขุนนาง ซึ่งถูกรจนาโดยกวีหญิง โห่ ซวน เฮือง (เวียดนามHồ Xuân Hương胡春香) อันปรากฏเนื้อความตอนหนึ่งล้อเลียนเหล่าขันที

อินโดนีเซีย

ในยุคก่อนรับศาสนาอิสลาม อินโดนีเซียเคยมีขันทีคอยรับใช้ในวงศ์กษัตริย์ชวาซึ่งนับถือศาสนาฮินดู-พุทธ กล่าวกันว่ากษัตริย์ชวามีพระมเหสีและนางห้ามเป็นจำนวนมาก จึงมีขันทีซึ่งแต่งกายแบบหญิงนับพันคอยถวายงานรับใช้




ชีวิตคนเมืองจีน/ จากการขุดค้นเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา นักโบราณคดีจีนพบว่า นอกจากบริเวณศีรษะของศพคนตายสมัยโบราณ ที่มักมีเครื่องป้องกันอยู่ บริเวณ ‘องคชาต’ก็เป็นอีกตำแหน่งหนึ่งที่ได้รับการปกปิดเป็นพิเศษ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าชาวจีนให้ความสำคัญต่อการสืบทอดวงศ์ตระกูลมากเพียงใด

อย่างไรก็ตาม กลับมีชายอกสามศอกจำนวนไม่น้อย ทั้งที่ถูกบังคับ หลอกลวง จนถึงสมัครใจ ‘ตัด’สัญลักษณ์ของความเป็นชายออกไป และนี่คือหน้าหนึ่งในชีวิตของ ‘ขันที’ หรือ ‘ไท่เจี้ยน’ ( 太监) ชายก็ไม่ใช่ หญิงก็ไม่เชิง กับบาดแผลในใจ ที่คนธรรมดายากจะเข้าใจ แต่เชื่อว่าต้องมีสักคนที่เห็นใจ

แม้ว่าภายในวังหลวง จะมีนางสนมกำนัลจำนวนมาก ที่ทำหน้าที่ปรนนิบัติ รับใช้จักรพรรดิและเครือญาติ แต่งานบางอย่างก็ต้องอาศัยแรงงานของผู้ชาย และเนื่องจากสาวชาววังส่วนใหญ่มักไม่ค่อยมีโอกาสได้เจอะเจอกับผู้ชาย จึงเกรงกันว่าอาจเกิดปัญหาตามมาภายหลัง ชายฉกรรจ์ที่ต้องการเข้ามาทำงานในวัง จึงต้องผ่าน ‘ขั้นตอนสุดโหด’ เพื่อให้หมดความสนใจในเพศตรงข้ามเสียก่อน

นอกจากนี้ จักรพรรดิหลายองค์ยังมีความเชื่อว่า “ผู้ชายที่ไม่ ( สามารถ) มีลูกเมีย จะเป็นทาสรับใช้ที่ซื่อสัตย์และจงรักภักดีที่สุด”




ภาพวาดโบราณบอกเล่าเรื่องราวของรักร่วมเพศ


ขันทียุคแรก

จากการค้นคว้าหลักฐานที่ปรากฏอยู่บนกระดองเต่า ทำให้เชื่อว่าขันทีเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ยิน ( 1,324 –1,066 ปี ก่อนคริสต์ศักราช เป็นชื่อเรียกของราชวงศ์ซาง หลังย้ายเมืองหลวงไปเมืองยิน ซึ่งปัจจุบันคือเมืองอันหยัง ในมณฑลเหอหนัน ) โดยบนกระดองเต่ามีตัวหนังสือจีนโบราณอยู่ตัวหนึ่ง ซึ่งหมายถึง 'การตัดองคชาต' และ คำว่า ‘羌 ’ ( อ่านว่าเชียง) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกของเมืองยิน

เรื่องราวที่ปรากฏอยู่บนกระดองเต่ามีอยู่ว่า อู่ติงหวัง จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ยิน (1,254 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ได้ทรงรับสั่งให้ตัดอวัยวะเพศของหนุ่มชาวเชียง ที่ถูกจับมาเป็นเชลย และให้นำตัวไปเป็นขันที ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ทั้งนี้ นักโบราณคดีเชื่อว่ากระดองเต่าชิ้นนี้ น่าจะเป็นหลักฐานเกี่ยวกับขันที ที่เก่าแก่ที่สุดของโลก

ต่อมาในรัชสมัยของมู่หวัง (976-920 ปี ก่อนคริสต์ศักราช) แห่งราชวงศ์โจว จนถึงรัชสมัยของจักรพรรดิอิงจง ( ค. ศ. 1457-1464 ) แห่งราชวงศ์หมิง ปรากฏหลักฐานว่า มีการลงโทษ ด้วยการ‘การตัดอวัยวะเพศ’ หรือที่เรียกกันว่า‘การลงโทษของราชสำนัก’ ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อแห่งความทารุณนี้ ได้แก่ เชลยศึก ข้าราชการที่จักรพรรดิไม่ทรงพอพระทัย หรือแม้แต่ลูกชายของชาวบ้านทั่วไป ที่ถูกนำมาเป็นทาสของบรรดาผู้ปกครองที่มีอำนาจล้นฟ้าในสมัยนั้น

และแม้ว่าผู้ที่ตกเป็น ‘ฝ่ายถูกกระทำ’ จะยังมีลมหายใจอยู่ แต่ก็เหมือนตายทั้งเป็น ยิ่งในสังคมศักดินาด้วยแล้ว การที่ไม่สามารถทำหน้าที่สืบสกุล มีลูกหลานไว้คอยเซ่นไหว้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ถือเป็นตราบาปในชีวิตลูกผู้ชายที่รุนแรง และน่าอับอายยิ่ง




ซุนเหย้าถิง ขันทีคนสุดท้ายของจีน เกิดปี ค.ศ 1902 ในสมัยราชวงศ์ชิง


ขันทีคนสุดท้าย

ต่อมาในสมัยหมิงและชิง ( ค.ศ.1644-1911 ) สองราชวงศ์สุดท้ายของจีน กลับมีชายหนุ่มจำนวนไม่น้อย สมัครใจเข้าเป็นขันที ส่วนมากมีสาเหตุมาจากความยากจน

เช่นเดียวกับซุนเหย้าถิง ขันทีคนสุดท้ายของจีน เขาเกิดในรัชสมัยของจักรพรรดิกวางสู่ ( ค.ศ.1875-1908) แห่งราชวงศ์ชิง ในครอบครัวที่ยากจนข้นแค้น วันหนึ่งพ่อและพี่ชายถูกเจ้าที่ดินกลั่นแกล้ง ใส่ร้ายป้ายสี จนต้องเข้าคุก คนในบ้านทั้งหมดต้องหนีภัยไปอยู่ต่างถิ่น เมื่อหมดสิ้นหนทาง ซุนเหย้าถิง จึงตัดสินใจเข้าวังเป็นขันที โดยหวังว่าสักวันจะต้องล้างแค้นคนที่ทำร้ายครอบครัวตนให้ได้

ในทศวรรษที่ 60 นักวิชาการกลุ่มหนึ่งได้เชิญขันที 15 คน มาพูดคุยเรื่องราวในชีวิตของพวกเขาให้ฟัง

เริ่นฝูเถียน บอกว่า ในยุคนั้นหลายอำเภอของมณฑลเหอเป่ย มณฑลซันตง หรือแม้แต่แถบชานเมืองปักกิ่ง เช่น ชางผิง ผิงกู่ ล้วนแต่เป็นถิ่นกำเนิดของไท่เจี้ยน การเข้าวังเป็นขันทีหรือไท่เจี้ยน เป็นหนทางเดียวที่ทำให้ชีวิตอยู่รอด

หม่าเต๋อชิง เล่าว่า ครอบครัวฐานะยากจนมาก อดมื้อกินมื้อ พ่อเป็นพ่อค้าขายกอเอี๊ยะ เมื่อเห็นว่า หลี่อี้ว์ถิง ญาติห่างๆคนหนึ่งของตน‘ได้ดิบได้ดี’ หลังจากเข้าวังเป็นขันทีได้เพียงไม่นาน พ่อก็เกิดความคิดอยากให้หม่าเดินตามรอยหลี่อี้ว์ถิง บ้างและในที่สุด พ่อแม่ของหม่าก็ตัดใจส่งลูกชายเข้าวัง

แต่ส่วนหนึ่งที่ทำให้พ่อแม่หลายคนตัดใจให้ลูกชายเป็นขันที ฉือห้วนชิง อธิบายว่าเป็นเพราะเชื่อคำของพวกมีอาชีพคล้ายนายหน้าหาคนเป็นขันที ตลอดจนหน้าที่ที่เรียกกันว่า ‘การชำระร่างกาย’ ซึ่งก็หมายถึง ‘การตัดอวัยวะเพศ’ นั่นเอง คนเหล่านี้จะพูดถึงแต่ข้อดีของการเป็นขันทีหรือไท่เจี้ยนจนเกินจริง ในที่นี้ไม่นับพวกที่ตั้งใจมาเป็นขันที เพื่อหลบหนีโทษทัณฑ์ต่างๆ

กว่าจะได้เป็นขันที ต้องมีขั้นตอนพอสมควร ตามบันทึก “เฉินหยวนจ๋าซื่อ” ก่อนอื่น ต้องมีขันทีชั้นผู้ใหญ่ให้การรับรอง โดยมี ‘หนังสือยินยอมการตัด’ พร้อมลายเซ็นของผู้ที่จะเข้ามาเป็นไท่เจี้ยน เป็นหลักฐานยืนยัน แต่แน่นอนว่า มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากการการตัดสินใจดังกล่าว


'ตัด’ แล้วไปไหน ?

ในปี ค.ศ.1870 สตินได้ลงพื้นที่เข้าไปสืบค้นเรื่องราวของบรรดาขันทีถึงในปักกิ่ง ข้าราชการชาวอังกฤษผู้นี้บันทึกว่า คนจีนมีคติความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ร่างกาย เส้นผม ผิวหนัง ของคนเรา เป็นของล้ำค่าที่พ่อแม่มอบให้ จึงต้องดูแลรักษาอย่างดี ดังนั้น หากแม้นมิอาจรักษาไว้กับตัวแล้ว ก็จำต้องเก็บรักษา ‘ชิ้นส่วน’ นี้ไว้ต่อไปจนกว่าจะตาย

วิธีแรกคือ โดยการใส่เก็บไว้ในกล่องที่ทำจากไม้และวางบนคานหลังคาบ้าน ราวกับเป็น ‘ของสูง’ วิธีที่สองคือ นำไปตั้งรวมไว้กับศาลประจำตระกูล เสมือนเป็นการแสดงความเคารพในบรรพบุรุษที่มอบชีวิตและร่างกายให้ วิธีที่สามคือ ‘คนตัด’เก็บไว้ รอให้เจ้าของ ‘สมบัติล้ำค่า’นำเงินมาไถ่ถอนคืน หลังจากไปได้ดิบได้ดีในวังหลวงแล้ว

ตามความเชื่อโบราณ ทันทีที่ขันทีได้จากโลกนี้ไปแล้ว จะต้องนำ‘ชิ้นส่วน’ที่ขาดไปมาเย็บติดที่เดิม มิฉะนั้นวิญญาณจะไม่มีหน้าไปพบบรรพบุรุษ หนำช้ำจะถูกพระยายมลงโทษให้ชาติหน้าเกิดเป็นวัวควายเพศเมีย

แต่บางครั้งด้วยเหตุผลนานาประการ ก็อาจทำให้ขันทีผู้นั้น ไม่มีโอกาสได้พบกับ ‘น้องชาย’ ที่พลัดพรากจากกันหลายปี ถึงตอนนี้ก็ต้องทำ ‘ของปลอม’ ซึ่งทำจากกระเบื้องขึ้นมาใหม่และฝังไปพร้อมกัน

กายใจสัมพันธ์กัน

ความจริงชีวิตของบรรดาขันทีเหล่านี้ค่อนข้างน่าเศร้าใจ ผลกระทบจากร่างกายที่ผิดปกติ ทำให้จิตใจพลอยเสียสมดุลไปด้วย กลายเป็นคนขี้ระแวง ขี้ใจน้อย และจะไวต่อสิ่งต่างๆที่มากระทบ โดยเฉพาะเมื่อเห็นวัตถุที่แตกหักหรือสัตว์ที่ อวัยวะ‘ขาดหาย’

มีเรื่องเล่าว่า เมื่อไท่เจี้ยนเห็นสุนัขหรือแมว ที่หางขาด บางทีก็พูดแก้เกี้ยวไปว่า “สุนัขหางลา” หรือ “แมวหางลา ” เมื่อเห็นกาน้ำชาที่ปากแตกหักไป ก็จะแกล้งจะทำเป็นมองไม่เห็น หรือทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นต้น

ในสมัยโบราณ มีสถานที่แห่งหนึ่งในปักกิ่งชื่อว่า ‘ตรอกแห่งความจงรักภักดี’ ซึ่งเป็นที่พบปะสังสรรค์หลังเวลาเลิกงานของบรรดาขันที ในบริเวณนี้จะมีร้านทำผม ร้านตัดเสื้อ และโรงอาบน้ำสำหรับให้บริการแก่ขันทีจากในวังโดยเฉพาะ

ซุนเหย้าถิงเล่าว่า เนื่องจากจำนวนสถานที่อาบน้ำในวังมีไม่มากนัก บรรดาขันทีจึงมักไปใช้บริการโรงอาบน้ำนอกวังกัน สถานที่ยอดนิยมในเวลานั้น เป็นของหัวหน้าขันทีรายหนึ่ง ตั้งอยู่บนถนนเป่ยฉางอัน ในปักกิ่ง ที่นี่จะให้บริการเฉพาะขันทีเท่านั้น พนักงานในนี้ทุกคนก็เป็นขันทีด้วยเช่นกัน เพื่อว่าจะได้ไม่มีใครหัวเราะเยาะใครได้ เพราะทุกคนเหมือนกัน

แต่หากวันไหนมีขันทีน้องใหม่หน้าใส เข้ามาใช้บริการเมื่อไหร่ ก็จะเป็นที่จับจ้องของเหล่าขันทีที่อยู่ก่อน ผิวตัวขาวๆ หน้าตาหล่อเรี่ยม ไม่มีวันรอดพ้นสายตาของเหล่าขันทีเฒ่าไปได้ โรงอาบน้ำ จึงเป็นสถานที่ ‘ตกเหยื่อ’ของบรรดาขันทีทั้งหลาย

ขอบคุณข้อมูล
ข้อมูล http://th.wikipedia.org/wiki/ขันที
http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9470000080149
เรียบเรียงจาก fx120.net / skb.hebeidaily.com

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...